แหนแดง พืชน้ำมหัศจรรย์ เปรียบเสมือนโรงงานปุ๋ย ใช้ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์

แหนแดง เป็นพืชตระกูลเฟิร์นชนิดลอยน้ำ เจริญเติบโตลอยอยู่บนผิวน้ำในที่ที่มีน้ำขังในเขตร้อนและเขตอบอุ่น แหนแดงที่พบอยู่ทั่วโลกมีอยู่ด้วยกัน 7 ชนิด ในประเทศไทยมีอยู่เพียงชนิดเดียว คือ อะซอลล่า พินนาต้า (Azolla pinnata)

 

ต้นแหนแดง ประกอบด้วยส่วนต่างๆ คือ ลำต้น ราก และใบ แหนแดงมีกิ่งแยกจากลำต้น ใบของแหนแดงเกิดตามกิ่งเรียงสลับกันไป ใบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือใบบนและใบล่าง มีขนาดใกล้เคียงกัน ใบล่างค่อนข้างโปร่งใส มีคลอโรฟิลล์น้อยมาก ใบบนเป็นสีเขียวมีคลอโรฟิลล์เป็นองค์ประกอบ

 

ดร. ศิริลักษณ์ แก้วสุรลิขิต นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เล่าว่า แหนแดงที่ขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติในบ้านเรา เป็นแหนแดงสายพันธุ์ อะซอลล่า พินนาต้า (Azolla pinnata) มีขนาดเล็กกว่าแหนแดงสายพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน ประมาณ 10 เท่า ทำให้ขยายพันธุ์ได้ช้ากว่า

 

แหนแดง มีประวัติการใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว ในประเทศสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีนมานานหลายศตวรรษแล้ว

“กรมวิชาการเกษตร" ได้ทำการวิจัยค้นคว้า เรื่องแหนแดง มาตั้งแต่ ปี 2520 ช่วงเวลาดังกล่าวกรมได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ส่งเสริมให้มีการใช้แหนแดงเป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าวทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งความจริงประเทศจีนได้มีการใช้แหนแดงในนาข้าวก่อนประเทศอื่นๆ เป็นเวลาเกือบ 100 ปีแล้ว

 

เริ่มต้นคัดสายพันธุ์ ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย

ดังได้กล่าวมาแล้ว แหนแดง มีอยู่มากมายหลายสายพันธุ์ ประมาณ 7 สายพันธุ์ แต่ที่เหมาะสำหรับประเทศไทยมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ อะซอลล่า พินนาต้า (Azolla pinnata) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมในประเทศไทย กับสายพันธุ์ อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรนำเข้ามาเพื่อคัดพันธุ์

 

ดร. ศิริลักษณ์ เล่าว่า หลังจากที่เราคัดเลือกได้สายพันธุ์แหนแดงที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยแล้ว เราก็ได้ปรับปรุงพันธุ์โดยการฉายแสง แล้วคัดพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วขึ้น มีความเหมาะสมสามารถทนอยู่ในสภาพแวดล้อมในบ้านเราได้ดี เมื่อเทียบคุณสมบัติกับแหนแดงสายพันธุ์ที่มีอยู่ในบ้านเรา พบว่า มีคุณสมบัติที่ด้อยกว่า คือ ตรึงไนโตรเจนได้น้อยกว่า ขนาดของต้นเล็กกว่า ขยายพันธุ์ได้ช้า

 

"กรมวิชาการเกษตร" ได้พัฒนาพันธุ์และขยายพันธุ์แหนแดงสายพันธุ์ไมโครฟิลล่า (microphylla) มาตั้งแต่ ปี 2520 ได้มีการรักษาพันธุ์มาเรื่อยๆ และได้เงียบหายไประยะหนึ่ง เมื่อประเทศไทยหันมาส่งเสริมเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ แหนแดงของกรมวิชาการเกษตรจึงได้นำมาพัฒนาการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์อีกครั้งหนึ่ง ใน ปี 2540

คุณสมบัติของ แหนแดง พันธุ์กรมวิชาการเกษตร

เนื่องจากกาบใบบนด้านหลังของแหนแดงมีโพรงใบและมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินอาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง เมื่อนำมาวิเคราะห์ พบว่า มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ สูงถึง 4.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าพืชตระกูลถั่วที่มีอยู่ ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อหว่านแหนแดงไปในนา 1 ไร่ จะมีผลผลิตแหนแดง 3,000 กิโลกรัม (3 ตัน) เทียบได้กับปุ๋ยยูเรีย 7-10 กิโลกรัม ซึ่งเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของข้าว

 

วิจัยครั้งแรก ทดลองกับการปลูกข้าว

จากผลงานวิจัยของ นายประยูร สวัสดี และคณะ อดีตนักวิชาการเกษตรของกรมวิชาการเกษตร ปี 2520-2521 พบว่า การเลี้ยงขยายแหนแดงเป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว 1 ชุด หรือ 2 ชุด สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวพอๆ กับการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน อัตรา 6-12 กิโลกรัม/ไร่ และจากผลการทดสอบภายใต้โครงการความร่วมมือกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ พบว่า การเลี้ยงแหนแดงแล้วไถกลบก่อนปักดำ สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้เทียบเท่ากับการใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 4.8 กิโลกรัม/ไร่ และการเลี้ยงแหนแดงหลังปักดำแล้วไถกลบก็ให้ผลทำนองเดียวกัน การไถกลบ 2 วิธี ร่วมกัน สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวเปลือกได้ เฉลี่ย 160 กิโลกรัม/ไร่ สำหรับการเพาะกล้าเมื่อใส่แหนแดงลงไปในแปลงกล้า 1-2 วัน จะสามารถลดระยะกล้าจาก 40 วัน เหลือเพียง 30 วัน เท่านั้น

ดร. ศิริลักษณ์ บอกว่า ในการวิจัยครั้งแรก กรมการข้าว ยังมิได้แยกตัวออกไปจากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสถาบันวิจัยข้าว ปัจจุบันได้แยกตัวออกไปเป็นกรมการข้าวแล้ว กรมวิชาการเกษตร ได้สนับสนุนแม่พันธุ์แหนแดงให้กรมการข้าวไปเพาะเลี้ยงเอง โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเพื่อให้กรมการข้าวสามารถเพาะเลี้ยง เพื่อจะได้นำไปใช้ในกิจการของกรมการข้าวเอง

 

ทดลองกับพืชที่ได้จาก การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ขณะนี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่กำลังเพาะกล้ากล้วยน้ำว้าจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ส่วนมากต้นกล้าของพืชที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะอ่อนแอในระยะอนุบาล และยังไม่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีได้ เนื่องจากระบบท่อลำเลียงยังไม่สมบูรณ์ หากใส่ปุ๋ยเคมีลงไปบางครั้งอาจจะทำให้พืชเน่าได้ เพราะปุ๋ยเคมีมีความเค็ม จะทำให้เสียเวลาในการงดใส่ปุ๋ย ประมาณ 20 วัน จึงจะเริ่มใส่ปุ๋ยได้ แต่แหนแดงสามารถผสมลงไปในวัสดุปลูกตั้งแต่เริ่มปลูกกล้าที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้เลย เพราะแหนแดงสามารถปลดปล่อยไนโตรเจนซึ่งเป็นอินทรีย์ที่ไม่มีพิษภัยต่อกล้าพืช กล้าจะดูดซึมไนโตรเจนเข้าไปในรากพืชได้เลย ดังนั้น แหนแดงจึงเหมาะกับการปลูกพืชที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

 

“เราได้ทำการทดลองแหนแดงกับกล้ากล้วยน้ำว้าสายพันธุ์ปากช่อง 50 ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถลดระยะกล้าลงจาก 60 วัน เหลือเพียง 45 วัน เป็นการประหยัดเวลาและต้นทุนในการดูแลรักษา เมื่อนำกล้าลงแปลงปลูก ปรากฏว่าต้นกล้ากล้วยที่ใช้แหนแดงผสมกับวัสดุปลูกกล้วยสามารถเจริญเติบโตเร็วกว่าต้นกล้าที่ไม่ได้ใส่แหนแดง”

การเพาะเลี้ยง แม่พันธุ์แหนแดงไม่ยาก

หลังจากที่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์แหนแดงให้กรมการข้าวไปดำเนินการเองก็มีเกษตรกรเริ่มรู้จักแหนแดงและมาขอจากกลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดินกันมากขึ้น โดยทางกลุ่มงานวิจัยจะสนับสนุนแม่พันธุ์ให้ไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เอง โดยยินดีจะถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงให้ ซึ่งไม่ยาก

 

“การเพาะเลี้ยง เกษตรกรจะต้องทำบ่อแม่พันธุ์แหนแดงไว้ เนื่องจากแหนแดงมีไนโตรเจนสูง เนื้อเยื่อของแหนแดงค่อนข้างอ่อน แมลงจะลงทำลายได้ง่าย เพราะฉะนั้นเกษตรกรจะต้องมีบ่อเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์ไว้ เมื่อเราใส่แหนแดงลงไปในแปลงนา และถูกแมลงทำลายเสียหายหมด เราก็ยังมีแม่พันธุ์แหนแดงที่เลี้ยงไว้ในบ่อ โดยไม่ต้องมาขอรับแม่พันธุ์แหนแดงจากกรมวิชาการเกษตรอีก”

 

การขุดบ่อ เนื่องจากแหนแดงไม่ต้องการน้ำลึก เกษตรกรขุดบ่อให้มีลักษณะเหมือนท้องนาขังน้ำให้ลึก ประมาณ 4-5 เซนติเมตร เรียกว่าเป็นบ่อน้ำตื้น ควรจะมีร่มไม้รำไร ถ้าพื้นที่บ่อ ประมาณ 5 ตารางเมตร ปล่อยแหนแดงลงไป ประมาณ 10 กิโลกรัม 10-15 วัน แม่พันธุ์แหนแดงจะเจริญเติบโตเต็มบ่อ ซึ่งควรจะปล่อยแหนแดงลงบ่อก่อนฤดูฝน ถ้าปล่อยลงบ่อในหน้าแล้ง ความชื้นในอากาศน้อย อาจจะใช้เวลานานถึง 3 สัปดาห์ แหนแดงจึงจะเต็มบ่อ

 

ดร. ศิริลักษณ์ บอกว่า ถ้าเกษตรกรมีแม่พันธุ์ 10 กิโลกรัม ก็จะเพียงพอสำหรับนา 1 ไร่ หลังจากนำไปปล่อยในนา ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็จะขยายแหนแดงได้ถึง 3,000 กิโลกรัม/ไร่ ถ้าหว่านแหนแดงลงไปในปริมาณมากจะขยายพันธุ์ได้เร็ว เพราะระบบขยายพันธุ์ของแหนแดงขยายให้น้ำหนักสดเป็น 2 เท่าตัว ทุก 3-5 วัน

 

การนำแหนแดงไปใช้

แหนแดงสด ถ้าจะใส่ในนาข้าว เกษตรกรควรนำไปหว่าน 2 ช่วง ด้วยกัน ช่วงแรก หว่านแหนแดงก่อนตีเทือก เพื่อให้แหนแดงไปเพาะขยายในท้องนา ประมาณ 20 วัน แล้วไถกลบ เมื่อแหนแดงย่อยสลายก็จะเริ่มปลดปล่อยไนโตรเจนออกมา ดังนั้น เมื่อตีเทือกเสร็จก็หว่านข้าวหรือดำนาได้เลย อีกช่วงหนึ่งถ้าเป็นนาดำ ให้ดำนาไปก่อน แล้วหว่านแหนแดงลงไปในนา แหนแดงจะไปขยายพันธุ์เต็มท้องนา เพราะนาดำมีลักษณะเป็นบ่อน้ำตื้น ประโยชน์ที่ได้ตามมาก็คือ แหนแดงจะช่วยบดบังแสงแดด ป้องกันไม่ให้วัชพืช ข้าววัชพืช ข้าวลีบ หรือข้าวดีด ที่ติดมากับรถเกี่ยวข้าว ตกค้างอยู่ในนา เจริญเติบโตขึ้นมาในนาข้าว

 

นอกจากนั้น ยังมีรายงานผลการทดสอบภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติว่า การเลี้ยงแหนแดงในนาแล้วไถกลบก่อนปักดำ สามารถเพิ่มผลผลิตได้ทัดเทียมกับการใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 4.8 กิโลกรัม/ไร่ และการเลี้ยงแหนแดงหลังปักดำก็ให้ผลผลิตทำนองเดียวกัน หรือการไถกลบทั้ง 2 วิธี ร่วมกันก็สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวเปลือกได้ โดยเฉลี่ย 160 กิโลกรัม/ไร่

 

เนื่องจาก แหนแดงมีโปรตีน ไขมัน เซลลูโลส และแร่ธาตุต่างๆ เป็นส่วนประกอบจำนวนมาก จึงเหมาะสมที่จะใช้เป็นอาหารสัตว์ได้เป็นอย่างดี จากการวิเคราะห์พบว่า กรดอะมิโนที่จำเป็นในแหนแดงมีปริมาณสูงเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของปลา จึงเหมาะสมที่จะใช้เลี้ยงปลา โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาในนาข้าวที่มีแหนแดงอยู่ด้วย สามารถทำให้น้ำหนักของปลาและขนาดของปลาเพิ่มขึ้นมากกว่าปลาที่เลี้ยงในนาข้าวโดยไม่มีแหนแดงร่วมด้วย

 

นอกจากนี้ การเลี้ยงปลาในนาข้าวยังทำให้ต้นข้าวได้รับปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอตลอดฤดูทำนาจากมูลปลาที่ถ่ายออกมาหลังจากกินแหนแดงเข้าไป ซึ่งทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอีกด้วย จะเห็นได้ว่าแหนแดงเป็นพืชมหัศจรรย์ที่มีประโยชน์มากในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแบบครบวงจร ดร. ศิริลักษณ์ กล่าว

 

แหนแดงแห้ง เนื่องจากแหนแดง เพิ่มปริมาณตัวเองอย่างรวดเร็ว เราก็เก็บรวบรวมมาตากแดดไว้ ประมาณ 2 วัน ก็แห้ง เก็บใส่กระสอบรวบรวมไว้สำหรับใช้ปลูกพืช อัตราที่นำแหนแดงแห้งไปใช้ ประมาณ 20 กรัม ต่อดินวัสดุเพาะ 1 กิโลกรัม จากผลการทดลองปลูกผักสลัดให้ผลเป็นที่น่าพอใจ ดร. ศิริลักษณ์ บอกว่า แหนแดงแห้งมีคุณสมบัติไม่แตกต่างจากแหนแดงสด เพราะองค์ประกอบของแหนแดงมีไนโตรเจนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับปุ๋ยยูเรีย แหนแดงแห้ง 6 กิโลกรัม เท่ากับปุ๋ยยูเรีย ประมาณ 10-12 กิโลกรัม ซึ่งเพียงพอสำหรับการปลูกพืช

 

แหนแดง เหมาะสำหรับเกษตรอินทรีย์

เกษตรกรที่ปลูกผักหรือทำการเกษตรอินทรีย์ ถ้าใช้แหนแดงผสมกับดินปลูก จะไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมาก กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน จึงผลิตแหนแดงเพื่อสนับสนุนงานเกษตรอินทรีย์หรือการทำการเกษตรแบบผสมผสานตามระบบทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แบบครบวงจร แหนแดงสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้ด้วย กินได้ทั้งสดและแห้ง ควบคู่ไปกับอาหารเม็ด หรือผสมกับฟางข้าวหรือหญ้าแห้งก็ได้ เพราะองค์ประกอบของแหนแดงมีโปรตีนสูง ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ มีอะมิโนแอซิดครบทุกตัว จึงเหมาะที่จะเป็นอาหารสัตว์ โดยเฉพาะในหน้าแล้งขาดแคลนหญ้าอาหารสัตว์หรือมีไม่เพียงพอ เกษตรกรสามารถใช้แหนแดงสดหรือแห้งผสมกับฟางแห้งหรือหญ้าแห้ง สัตว์ก็จะได้อาหารที่มีคุณภาพดี เกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงแหนแดงโดยเลี้ยงในบ่อน้ำตื้น ประมาณ 4-5 เซนติเมตร แหนแดงจะไม่มีวันขาดแคลน เก็บเกี่ยวได้ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะแหนแดงจะเจริญเติบโตและขยายตัวไปได้เรื่อยๆ

 

“แหนแดง สามารถไปทดแทนปุ๋ยยูเรียได้ในขณะที่ปุ๋ยมีราคาแพง และไม่ต้องกังวลในเรื่องของปุ๋ยปลอม” ดร. ศิริลักษณ์ กล่าวในที่สุด

 

ขอบคุณที่มา : ข่าวเทคโนโลยีชาวบ้าน

Visitors: 210,100